กรณียูเครน: ยุโรปแพ้ตั้งแต่ยังไม่ทันรบกับรัสเซีย

ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับกลุ่มนาโตต่อท่าทีของรัสเซียที่อาจรุกรานยูเครน ทำให้เกิดความกังวลเรื่องสงครามขึ้นมา แต่รัสเซียมีไม้เด็ดที่ทำให้ยุโรปซึ่งเป็นสมาชิกหลักของนาโตต้องยอมศิโรราบทั้งๆ ที่ยังไม่ทันรบกัน

ว่ากันว่าสหรัฐจะไม่รุกรานหรือเข้าไปก้าวก่ายถ้าประเทศนั้นไม่มีน้ำมัน นี่เป็นคำพูดล้อกันเล่นแต่มีส่วนจริงอยู่บ้างแต่ไม่ทั้งหมด เพราะจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่จำเป็นหรอกว่าประเทศนั้นมีน้ำมันหรือไม่ ถ้ามันสมผลประโยชน์ สหรัฐก็จะเข้าไปยุ่มย่ามอยู่ดี

อย่างยูเครนก็ไม่ใช่เศรษฐีน้ำมัน มีแต่ทุ่งปลูกข้าวสาลีสุดลูกหูลูกตา แต่สหรัฐแย้มออกมาแล้วว่ากำลังพิจารณาส่งความช่วยเหลือให้กับกลุ่มติดอาวุธในยูเครนถ้าหากรัสเซียจะรุกรานยูเครนขึ้นมา จากการรายงานของ The New York Times

ในรายงานของ The New York Times เช่นกันได้สัมภาษณ์ เจมส์ สตาวริดิส (James Stavridis) นายพลเรือเกษียณอายุราชการชาวอเมริกันซึ่งเคยเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายพันธมิตรของนาโต (NATO) สตาวริดิสบอกว่าถ้ารัสเซียจะเข้ามายึดยูเครน สหรัฐก็จะใช้ยุทธวิธีเดียวกับที่เคยสนับสนุนกลุ่มมุญาฮิดีนในอัฟกานิสถานเพื่อต้านทานการรุกรานของสหภาพโซเวียตจนทัพโซเวียตต้องซวนเซถอนทัพกลับไปในทศวรรษที่ 80

เป็นเรื่องที่จะขำก็ขำไม่ออก เพราะสหรัฐเพิ่งจะซวนเซออกมาจากอัฟกานิสถานอยู่หมาดๆ นอกจากจะกำจัดตอลิบานไม่ได้แล้ว ยังถอนกำลังออกมาแบบถูลู่ถูกังจนหมดสภาพมหาอำนาจทางการทหารอันดับหนึ่ง

ยังไม่นับเรื่องที่กลุ่มมุญาฮิดีนในอัฟกานิสถานที่สหรัฐหนุนหลังให้ช่วยทำสงครามตัวแทนกับโซเวียตนั้น ต่อมาเปลี่ยนจากมิตรเป็นศัตรู กลายร่างเป็นตอลิบานและอัลกออิดะห์ที่หันกระบอกปืนมาเล่นงานสหรัฐจนลากยาวเป็น “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” นานกว่า 2 ทศวรรษ

อัฟกานิสานเป็นหนึ่งตัวอย่างของการรุกรานของสหรัฐต่อประเทศที่ไร้น้ำมันแล้วกลับออกมาแบบมือเปล่าแถมเจ็บตัว

ดังนั้นเมื่อนายพลอเมริกันอ้างกลยุทธ์ที่กลายเป็นความล้มเหลวทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาแบบนี้ ทำให้เชื่อได้ยากว่าหากใช้อีกรอบกับ “อดีตโซเวียต” มันจะได้ผลจริงหรือ?

ยังไม่จบแค่นั้น เจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกันยังฝันหวานว่าแผนการที่จะช่วยผู้ลุกฮือต้านรัสเซียในยูเครนอาจรวมถึงการฝึกกองกำลังในประเทศใกล้เคียงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปีกตะวันออกของนาโต คือ โปแลนด์ โรมาเนีย และสโลวาเกีย

ก่อนที่จะวางแผนทำสงครามบานปลายขนาดนั้น สหรัฐคงลืมนึกไปว่าสมาชิกนาโตจะเต็มใจทำตามแผนหรือไม่

เพราะแน่นอนว่านาโตพร้อมที่จะช่วยยูเครนและสกัดอิทธิพลรัสเซียก็จริง แต่การทำสงครามแม้แต่ทางอ้อมจะทำให้นาโตในยุโรปพบกับหายนะมากกว่า

ไม่ต้องอะไร รัสเซียขู่มาตลอดว่านาโตไม่พึงขยายสมาชิกใหม่ หากแสวงหาแนวร่วมเพิ่มเป็นได้เห็นดีกัน เพราะอะไร? ก็เพราะว่ายิ่งนาโตดึงประเทศรายล้อมรัสเซียมาร่วมด้วย ก็เท่ากับทำยุทธศาสตร์ล้อมรัสเซีย แล้วจะให้รัสเซียอยู่นิ่งๆ ได้หรือ?

แต่ไรมาแล้วตั้งแต่ยุคสภาพโซเวียต นาโตนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อต้านโซเวียต (ซึ่งก็คือรัสเซีย) แต่ดีที่ไม่ต้องเผชิญหน้า เพราะในเวลานั้นมีแนวกันชนคือยุโรปตะวันออกและเยอรมนีที่ถูกแบ่งเป็นตะวันตก-ตะวันออก รวมถึงฟินแลนด์และสวีเดนที่เป็นแนวกันชนทางตอนเหนือ

ทว่า นาโตดันล้ำเส้นโดยดึงเยอรมนีตะวันตกมาเป็นสมาชิก ทำกับทำลาย “แนวกันชน” โซเวียตก็ตอบโต้ด้วยการสร้างแนวร่วมกติกาสัญญาวอร์ซอ โดยดึงเยอรมนีตะวันออกมาร่วมด้วย จนกระทั่งไร้เส้นแบ่งกั้น พร้อมจะเผชิญหน้ากันตรงๆ ได้

กติกาสัญญาวอร์ซอจบลงไปแล้วหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แต่ทุกวันนี้รัสเซียและกลุ่มประเทศเอเชียกลางและยุโรปตะวันออกสองสามแห่งยังฟอร์มทีมกันเป็นองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (CSTO) โดยที่สมาชิกกติกาสัญญาวอร์ซอในยุโรปตะวันออกหลายรายหันไปซบนาโต

ยูเครนก็เคยเป็นหนึ่งในสมาชิกกติกาสัญญาวอร์ซอและต้องการจะเป็นสมาชิกนาโต แต่รัสเซียขวางไม่ให้ทำเช่นนั้น และนาโตก็ไม่กล้าหือ เพราะการดึงยูเครนเข้ามาร่วมนาโต เท่ากับทำลาย “แนวกันชน” แล้วเปิดหน้าชนกับรัสเซียโดยตรง

ดูเอาเถอะ แม้แต่ฟินแลนด์กับสวีเดนก็ยังออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้พยายามดิ้นรนเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต โดยเพกกา ฮาวัสโต รัฐมนตรีต่างประเทศฟินแลนด์ย้ำเมื่อวันที่ 14 มกราคมว่า “ฟินแลนด์ไม่ได้หารือกับนาโตเรื่องการเข้าร่วม และฟินแลนด์ไม่มีโครงการที่จะทำแบบนั้นในเร็วๆ นี้ … นโยบายความมั่นคงของฟินแลนด์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง”

คำกล่าวนี้มีขึ้น 1 วันหลังรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐแอนโทนี บลิงเคน บอกเป็นนัยในการให้สัมภาษณ์กับ MSNBC วันที่ 13 มกราคม ว่าฟินแลนด์ต้องการเข้าร่วมกับนาโต โดยที่ก่อนหน้านี้วันที่ 12 มกราคม โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ดมิทรี เปสคอฟ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่ารัสเซียจะมองว่าฟินแลนด์เข้าร่วมกับนาโต้ว่าเป็น “การกระทำที่แสดงถึงการเผชิญหน้า”

จะเห็นว่าหลังจากรัสเซียขู่ สหรัฐก็สวนกลับโดยยุยงให้ฟินแลนด์ร่วมนาโต (หรือที่จริงคือทำทีปล่อยข่าวว่าฟินแลนด์จะร่วมนาโต) ปรากฏว่าฟินแลนด์ไม่เล่นตามน้ำสหรัฐ แต่ “เกรงใจ” รัสเซียมากกว่า

ฟินแลนด์ไม่ได้มีแค่ฐานะเป็นรัฐกันชนระหว่างรัสเซียกับยุโรปตะวันตก แต่มีปัญหาทางประวัติศาสตร์กับรัสเสียมาเนิ่นนาน ทั้งเรื่องพรมแดน เรื่องการุกรานและรุกล้ำ เรื่องเชื้อชาติ และเอกราช เพราะฟินแลนด์เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียมาก่อน

ตราบใดที่รัสเซียไม่ก้าวร้าวใส่ ฟินแลนด์ก็อยากจะอยู่นิ่งๆ มากกว่า เช่นเดียวกับสวีเดนที่ถึงจะไม่มีพรมดินแดนติดกับรัสเซียแต่ก็ลังเลที่จะร่วมกับนาโต เพราะคงคำนวณแล้วว่าได้ไม่คุ้มเสียเพราะเท่ากับสร้างศัตรูระดับยักษ์ขึ้นมาใกล้ๆ บ้านตัวเอง

สวีเดนมีส่วนใกล้กับรัสเซีย (คือใกล้กับคาลินินกราด จังหวัดที่เป็นเสี้ยวหนึ่งในเขตบอลติกนอกแผ่นดินใหญ่รัสเซีย) ดังนั้น แม้ว่าจะไม่เข้านาโต สวีเดนก็ต้องปกป้องตนเองด้วย โดยเสริมกำลังเข้าไปในก็อตแลนด์ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับคาลินินกราด นัยว่าเพื่อป้องกันเรื่องที่คาดไม่ถึง (สวีเดนส่งทหารเข้าไปประจำการเกาะก็อตแลนด์ ตั้งแต่ปี 2008 หลังจากรัสเซียกับยูเครนและยุโรปตะวันตกมีเรื่องประทับกระทั่งกันมากขึ้น)

ฟินแลนด์กับสวีเดนไม่ใช่หมากชี้เป็นชี้ตาย ในทางประวัติศาสตร์แล้วทั้งสองประเทศพยายามรักษาความเป็นกลางมาโดยตลอด แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้นาโตพยายาม “ยุ” ให้ทั้งสองประเทศมาร่วมกับตนอย่างหนักขึ้น นอกจากบลิงเคนแล้ว ยังมีอันเดอร์ ฟอก ราสมุสเซน ชาวเดนมาร์กอดีตเลขาธิการของนาโตที่บอกเมื่อวันที่ 15 มกราคมว่า “ถ้าฟินแลนด์และสวีเดนสมัครเป็นสมาชิก เราสามารถตัดสินใจได้ในชั่วข้ามคืน”

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรัสเซียด้วยว่าจะก้าวร้าวแค่ไหน หากก้าวร้าวในขนาดรุกรานยูเครนขึ้นมา ประเทศเป็นกลางก็คงอยู่เฉยไม่ได้ เพราะเห็นแล้วว่ารัสเซียไม่เกรงใจใคร ใครๆ ก็ไม่ควรเกรงใจรัสเซียอีก

แต่คำว่า “อยู่เฉยไม่ได้” ก็ไม่ได้หมายความจะมีปฏิกริยาทันที เราต้องรอดูกันต่อไปว่าจะตอบโต้รัสเซียในระดับไหน เราเห็นแล้วว่าฟินแลนด์กับสวีเดนไม่ยอมคล้อยตามลูกยุของนาโต แม้แต่สมาชิกนาโตระดับเบ้งๆ อย่างเยอรมนีพยายามเบี่ยงเบนการเผชิญหน้า กระทั่งถูกยูเครนตราหน้าว่าพยายามขัดขวางการขายปืนไรเฟิลต่อต้านอากาศยาน, ระบบต่อต้านสไนเปอร์ผ่านนาโตและเอเย่นอาวุธอื่นๆ ให้กับยูเครน

โอเล็กเซ เรซนิคอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของยูเครนกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Financial Times ว่า “พวกเขายังคงสร้างท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 และในขณะเดียวกันก็ปิดกั้น [การซื้อ] อาวุธป้องกันของเรา สิ่งนี้ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง”

Nord Stream 2 คือท่อส่งก๊าซของรัสเซียที่ไหลผ่านทะเลบอลติกไปยังเยอรมนี มันคือเส้นทางเลือกที่จะไม่ผ่านยูเครน เพราะในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมารัสเซียมีปัญหากับยูเครนเรื่องท่อส่งก๊าซมาโดยตลอด

รัสซียนั้นเป็นทั้งผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่แต่ที่ใหญ่กว่าคือมหาอำนาจก๊าซธรรมชาติ ก๊าซที่รัสเซียขายมีลูกค้ารายใหญ่คือยุโรปตะวันตกถึงขนาดที่ว่า “ขาดก๊าซเหมือนขาดใจ” โดยเฉพาะเยอรมนีนั้นยอมอะลุ่มอล่วยกับรัสซียมาโดยตลอดเพราะพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียนั่นเอง

เผอิญว่าก๊าซที่รัสเซียส่งไปยังยุโรปตะวันตกต้องผ่านยูเครนหรือประเทศยุโรปตะวันออกบางประเทศที่ไม่ค่อยถูกกับรัสเซีย (แม้จะเคยเป็นพันธมิตรกติกาสัญญาวอร์ซอมาก่อน แต่หลังเป็น “เอกราช” แล้วพากันชิงชังรัสเซียอย่างมาก เพราะเคยถูกข่มมาก่อนสมัยสหภาพโซเวียต)

ยูเครนมีเรื่องกับรัสเซียเรื่องท่อส่งก๊าซหลายครั้งและหลายเหตุผล รวมถึงความขัดแย้งเรื่องดินแดน การทะเลาะกันของทั้งคู่ทำให้ยุโรปกลุ้มใจเพราะก๊าซจะตกไม่ถึงมือ ทำให้ขาดแคลนพลังงาน

ความขัดแย้งล่าสุด ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติในสหภาพยุโรปเมื่อปีที่แล้วได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 800% นับตั้งแต่ต้นปีจากข้อพิพาทเรื่องท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 และกรณีพิพาทอื่นๆ

และมาปีนี้เมื่อการเจรจาระหว่างรัสเซียกับสหรัฐคว่ำไม่เป็นท่า ราคาก๊าซก็พุ่งขึ้นมา 25% เมื่อวันที่ 14 มกราคม

บางคนยังมองว่าราคาก๊าซคืออาวุธที่รัสเซียใช้จ่อคอหอยยุโรปไม่ให้ซ่าไปกว่านี้ แม้แต่ฟาติห์ บิรอล กรรมการบริหารของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ยังต่อว่ารัสเซียว่าฉวยโอกาสใช้วิกฤตการเมืองระหว่างประเทศบีบอุปทานเพื่อปั่นราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงที่ยุโรปต้องการก๊าซมากในฤดูหนาว

เขาเชื่อว่า Gazprom รัฐวิสาหกิจก๊าซธรรมชาติของรัสเซียต้องกักอุปทานแน่นอน และทำให้ราคาสูงขึ้นแต่รัสเซียอ้างสถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครน

อันที่จริงว่ากันแฟร์แล้ว ต่อให้รัสเซียกักอุปทานก๊าซจริง รัสเซียก็มีเหตุผลที่จะใช้ก๊าซเป็นอาวุธกับยุโรปซึ่งแสดงท่าทีเป็นศัตรูกับรัสเซียอย่างออกนอกหน้า

สหรัฐจึงต้องมาเป็นแบ็คอัพให้ยุโรป โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐ 2 รายและแหล่งอุตสาหกรรม 2 แห่งบอกกับรอยเตอร์เมื่อวันที่ 14 มกราคมว่า รัฐบาลสหรัฐได้จัดการเจรจากับบริษัทพลังงานระหว่างประเทศหลายแห่งเกี่ยวกับแผนฉุกเฉินในการจัดหาก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรป หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนขัดขวางอุปทานก๊าซจากรัสเซีย

แน่นอนว่ามันช่วยยันสถานการณ์ไว้ได้ แต่เอาเข้าจริงมันช่วยอะไรไม่ได้มากนัก

จนถึงตอนนี้ เราจะเห็นแค่สมาชิกนาโตที่อยู่ไกลจากจุดขัดแย้งเท่านั้นที่เคลื่อนไหวก้าวร้าวกับรัสเซียมากกว่าพวกที่อยู่ใกล้ๆ เช่น สหรัฐที่คอยยุและขู่ไม่หยุด

อดัม ชิฟฟ์ ประธานคณะกรรมการข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐถึงกับเชื่อว่ารัสเซียจะบุกยูเครน “แน่ๆ”

แต่โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ดมิทรี เปสคอฟ ต่อคำถามว่ารัสเซียจะบุกยูเครนหรือไม่นั้น เขาตอบด้วยคำสั้นๆ ว่า “บ้าชัดๆ “

ใครพูดจริงพูดโกหก ใครมั่วใครถูก อนาคตเท่านั้นที่จะตัดสิน

รวมถึงรัฐมนตรีต่างประเทศแคนาดาที่จะเดินทางไปเยือนยูเครนด้วยตัวอง แล้วบอกก่อนเดินทางว่า “แคนาดาจะทำงานร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อรักษาระเบียบระหว่างประเทศที่หลักนิติรัฐ”

ทั้งสหรัฐและแคนาดานั้นทำเป็นออกหมัดชกลมขู่ได้ เพราะไม่ได้อยู่บนเวทีกับเหมือนยุโรปที่ถูกผลักขึ้นไปเจอกับระดับเฮฟวี่เวทโดยตรง ยิ่งแคนาดานั้นระยะหลังทำตัวเลียนแบบตำรวจโลกกับครูสอนศีลธรรมโลกเหมือนสหรัฐขึ้นมาทุกที

ลองทั้งสองประเทศต้องพึ่งก๊าซจากรัสเซีย จะไม่แสดงอาการยั่วยุให้ชาวบ้านชกกันแบบนี้

สถานการณ์แบบนี้การยั่วยุเป็นสิ่งอันตรายอย่างมาก ขณะที่ชาติตะวันตกพยายามโน้มน้าวให้โลกเชื่อให้ได้ว่ารัสเซียจะยูเครน (อ้างว่าปูตินมีปัญหาภายในต้องการกลบเกลื่อนและมีปมเรื่องการขยายดินแดน) แต่การก่อความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามโลกแบบนี้่ไม่คุ้มอย่างมากกับทุกฝ่าย

รัสเซียนั้นกล่าวหาว่ายูเครนและนาโตสะสมกำลังทหารยั่วยุก่อน หลังจากนั้นรัสเซียจึงต้องตอบโต้ด้วยการส่งทหารนับแสนนายไปที่พรมแดนยูเครน

เรื่องนี้มีส่วนจริงเพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานาโตและสหรัฐเคลื่อนไหวทางการทหารในประเทศสมาชิกใกล้พรมแดนรัสเซียอย่างมาก เช่น โปแลนด์ รวมถึงความวุ่นวายในเบลารุสที่เป็นแนวกันชนของรัสเซีย รัสเซียก็มองว่าชาติตะวันตกแทรกแซงเข้ามาเพื่อจะ “กลืน” บาลารุส

แต่สถานการณ์จะนำไปสู่สงครามหรือไม่? สำหรับผู้เขียนคิดว่าอาจจะไม่ อย่างน้อยยุโรปจะไม่ยอมให้เกิดเรื่องแบบนั้น เพราะตนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

ย้อนไปในเดือนพฤศจิกายนปีกลาย ดมิทรี โปลียันสกี (Dmitry Polyansky) ผู้ช่วยทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติกับคำถามว่าจะบุกยูเครนหรือไม่ เขาตอบว่า “ไม่เคยวางแผน ไม่เคยทำ และจะไม่ทำมัน เว้นแต่เราจะถูกยูเครนหรือคนอื่นยั่วยุ” และบอกว่า “และอย่าลืมว่าเรือรบอเมริกันรอบๆ ทะเลดำนั้นแสดงท่าทีเข้ามาใกล้มาก”

ถูกต้อง ขณะที่โลกตะวันตกประโคมว่ารัสเซียสั่งสมกำลังทหาร ชาติตะวันตกก็ส่งกองเรือไปยั่วรัสเซียถึงถิ่นไม่หยุด ทั้งในทะเลดำ ทะเลบอลติก ไหนจะมีระบบป้องกันขีปนาวุธและส่งกองทหารในประเทศยุโรปตะวันออกแบบที่ใครเห็นก็รู้ว่เอาไว้ขู่ใคร

พอรัสเซียเอาจริงขึ้นมา นาโตจึงมีทั้งฝ่ายหวั่นๆ กับฝ่ายที่ท้าทายไม่เลิกว่า “ก็เอาสักตั้งสิวะ” แล้วปั่นเรื่องยูเครนให้เป็นชนวนบานปลาย

ดังนั้นระเบิดลูกนี้หรือจะตูมขึ้นมาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าบางประเทศจะทำให้ยูเครนหมดสถานะรัฐกันชนแล้วลากมาเป็นสมาชิกนาโตหรือไม่

หากทำเช่นนั้นนั้นสงครามจะเกิดขึ้นสมใจบางประเทศ

โดย กรกิจ ดิษฐาน

REUTERS/Evgenia Novozhenina

Note: This article have been indexed to our site. We do not claim legitimacy, ownership or copyright of any of the content above. To see the article at original source Click Here

Related Posts
Indian capital city to ban unvaccinated employees from work thumbnail

Indian capital city to ban unvaccinated employees from work

Local Government in the Indian capital on Friday said it would not allow its unvaccinated employees to attend offices from Oct. 16.The order was been issued by Delhi’s government Disaster Management Authority (DDMA).“All employees working under the government of National Capital Territory of Delhi, including frontline workers, healthcare workers as well as teachers and other…
Read More
Gijang-gun, recruiting non-face-to-face instructors and students for 'My Neighborhood Delivery Course' thumbnail

Gijang-gun, recruiting non-face-to-face instructors and students for 'My Neighborhood Delivery Course'

부산 기장군은 10월25일부터 12월17일까지 운영하는 '2021년 하반기 우리동네 배달강좌' 프로그램에 참여할 강사와 수강생을 추가모집한다.▲ 부산 기장군 청사 전경. [기장군 제공]'우리동네 배달강좌'는 학습자가 원하는 시간과 장소에 강좌를 배달하는 평생학습 프로그램이다. 지속적인 코로나19 확산에 따라 올 하반기 추가모집 강좌도 전면 온라인 학습으로 진행된다.기장군은 온라인 수업을 진행할 강사를 1일부터 5일까지 모집한다. 수강생 모집은 12일부터 14일까지다. 배달강사 모집 대상은 신규등록…
Read More
لوئر دیر اور ضلع مہمند میں زلزلے کے شدید جھٹکے thumbnail

لوئر دیر اور ضلع مہمند میں زلزلے کے شدید جھٹکے

اسلام آباد: صوبہ خیبرپختونخوا کے اضلاع لوئر دیر اور مہمند میں زلزلے کے شدید جھٹکے محسوس کیے گئے۔ اے آر وائی نیوز کے مطابق صوبہ خیبرپختونخوا کے مختلف اضلاع میں زلزلے کے جھٹکے محسوس کیے گئے جس کے سبب لوگ کلیمہ طیبہ کا ورد کرتے ہوئے گھروں سے باہر نکل آئے۔ زلزلہ پیما مرکز کے…
Read More
Index Of News
Consider making some contribution to keep us going. We are donation based team who works to bring the best content to the readers. Every donation matters.
Donate Now

Subscription Form

Liking our Index Of News so far? Would you like to subscribe to receive news updates daily?

Total
0
Share